1. ที่มาของเกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ
(Education Criteria for Performance Excellence: EdPEx)

องค์กรจำนวนมากทั่วโลกได้มีการใช้ Baldrige Excellence Framework (เกณฑ์บัลดริจ) เพื่อปรับปรุงและนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ยั่งยืน โดยองค์กรที่ได้รับรางวัลบัลดริจคือองค์กรที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นต้นแบบระดับประเทศ และองค์กรเหล่านี้ ได้มีการแบ่งปันแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศกับหน่วยงานอื่น ๆ อย่างกว้างขวาง ทำให้องค์กรจำนวนมากสามารถนำไปพัฒนาทั้งแนวทางการดำเนินการและผลลัพธ์ ซึ่งส่งผลดีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศและโลก 

สำหรับประเทศไทยได้นำเกณฑ์บัลดริจด้านการศึกษามาปรับใช้ให้เหมาะกับบริบทของการอุดมศึกษาไทย โดยเป็นที่รู้จักหรือเรียกกันว่า “เกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการเนินการที่เป็นเลิศ (Education Criteria for Performance Excellence : EdPEx)” เพื่อให้สถาบันทางการศึกษาใช้พัฒนาการบริหารจัดการได้อย่างต่อเนื่องอันนำไปสู่ความเป็นเลิศ และยกระดับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถาบัน รวมถึงของประเทศให้ทัดเทียมกับนานาชาติ

2. ประโยชน์ของ EdPEx

เกณฑ์ EdPEx ช่วยให้สถาบันทางการศึกษาค้นพบและใช้จุดแข็งของตนในการพัฒนาและเตรียมพร้อมสำหรับการรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ยังเอื้อให้สถาบันทางการศึกษาสามารถระบุประเด็นที่สำคัญ ดังต่อไปนี้

  1.  คุณลักษณะที่สถาบันจำเป็นต้องมีเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ และประสบความสำเร็จในระยะยาว ในสภาวะแวดล้อมด้านการศึกษา
  2.  การทำให้ผู้นำ ผู้บริหารแต่ละระดับ และบุคลากรทั้งหมดเห็นภาพเดียวกัน
  3.  การทำให้มั่นใจว่าบุคลากรเข้าใจและร่วมขับเคลื่อนสถาบันไปสู่ความสำเร็จ
  4.  การทำความเข้าใจ และตอบสนอง หรือทำได้เหนือกว่าความต้องการและความคาดหวังของผู้เรียนและลูกค้ากลุ่มอื่น
  5.  การทำให้มั่นใจว่า การดำเนินการของสถาบันมีประสิทธิภาพ และนำไปสู่ความสำเร็จในระยะสั้นและระยะยาว

ประเด็นทั้ง 5 ข้อข้างต้น จะส่งผลให้สามารถวางตำแหน่งของสถาบันทางการศึกษาเพื่อปฏิบัติพันธกิจให้ประสบผลสำเร็จ มีความชัดเจนขึ้น และทุกกลุ่ม (ผู้นำ บุคลากร ผู้เรียน และลูกค้ากลุ่มอื่น รวมทั้งคู่ความร่วมมือที่เป็นทางการที่สำคัญ) สามารถดำเนินการไปในแนวทางที่สอดคล้องกัน

3. องค์ประกอบของเกณฑ์ EdPEx

ระบบการดำเนินการที่เป็นเลิศประกอบด้วยเกณฑ์ 7 หมวด ซึ่งการดำเนินการที่เป็นเลิศต้องอาศัยการนำองค์กรที่เข้มแข็ง และแสดงให้เห็นได้จากผลลัพธ์ที่โดดเด่น 

เกณฑ์ทั้ง 7 หมวด ประกอบด้วยกลุ่มการนำองค์กร (หมวด 1-3 ทางด้านซ้าย) ที่มีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกับกลุ่มผลลัพธ์ (หมวด 5-7 ทางด้านขวา) ในลักษณะที่เป็นการบูรณาการระหว่างกัน โดยมีโครงร่างองค์กรกับการวัด วิเคราะห์ และการจัดการความรู้ (หมวด 4 ) ที่จะให้สารสนเทศและข้อมูลสะท้อนกลับแก่กระบวนการที่สำคัญและสภาวะแวดล้อมขององค์กร ซึ่งสามารถสรุปออกมาเป็นภาพได้ดังนี้

4. การวัดผลการดำเนินการของสถาบัน

การวัดผลการดำเนินการของสถาบัน จำเป็นต้องมุ่งเน้นผลลัพธ์ที่สำคัญ ซึ่งนำไปใช้เพื่อสร้างคุณค่าและรักษาความสมดุลของคุณค่าให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญ ได้แก่ ผู้เรียนและผู้ปกครอง ลูกค้ากลุ่มอื่น บุคลากร ผู้ส่งมอบ คู่ความร่วมมือทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ สาธารณะ และชุมชน ดังนั้นผลลัพธ์จึงต้องประกอบด้วยตัววัดต่าง ๆ ที่ไม่ใช่ตัววัดเฉพาะด้านการเรียนรู้ของผู้เรียนและการเงิน แต่รวมถึงผลลัพธ์ด้านกระบวนการ ความพึงพอใจและความผูกพันของผู้เรียน ลูกค้ากลุ่มอื่น และบุคลากร รวมทั้งผลการดำเนินการด้านการนาสถาบัน กลยุทธ์ และด้านสังคม